ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นยุคทองแห่งสมุนไพรไทย ด้วยผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับสุขภาพตามวิถีธรรมชาติและบำบัดอาการต่างๆ ด้วยพืชพรรณสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องสำอางจากธรรมชาติและสมุนไพรไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์เวชสำอางมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านผู้ประกอบการและจำนวนผู้บริโภค
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เวชสำอางธรรมชาติ (Natural Cosmeceuticals) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องไม่มีส่วนผสม เช่น กลิ่น สี สารปรุงแต่ง สารที่ทำให้คงสภาพ ตัวทำละลาย เป็นต้น ที่เป็นสารสังเคราะห์ รวมทั้งยังต้องไม่มีการฉายรังสี ไม่มีการใช้วัตถุดิบที่ปนเปื้อน หรือตัดแต่งพันธุกรรม และไม่ใช้สัตว์ทดลอง (การใช้สัตว์ทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและอาการแพ้ที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นใหม่) ผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ปลอดสารเคมี การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คลังข้อมูลอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเวชสำอางได้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดเครื่องสำอางโลกในปี 2560 จะมีมูลค่าถึง 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1,529 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2555-2560 ที่ผ่านมาคิดเป็น 8%
ธุรกิจความงามไทยโดยภาพรวม ไทยเป็นศูนย์กลางเครื่องสำอางอันดับ 3 ของเอเชีย ต่อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่เป็นเบอร์หนึ่งของตลาดเครื่องสำอางในอาเซียน มีมูลค่าตลาดรวม 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% คิดเป็นมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก 40% คิดเป็นมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท
กระแสนิยมของผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงสารเคมี หันมาให้ความสนใจผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้นการใช้สารสกัดจากธรรมชาติ จากสมุนไพรที่มีคุณสมบัติที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องความงามได้
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพของสมุนไพร ทุกๆ ภูมิภาคอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชและสมุนไพรนานาพันธุ์ที่เหมาะสมจะใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเครื่องสำอางและเวชสำอางประเภทต่างๆ ทดแทนส่วนประกอบที่เป็นสารเคมี และมีความสามารถหยิบฉวยมรดกทางปัญญา นำพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเกือบ 100% มาประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางตามภูมิปัญญาของคนไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
เทรนด์เครื่องสำอาง/เวชสำอางสมุนไพรไทย
ในอดีตสมุนไพรไทยเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็นทั้งอาหาร เครื่องประทินผิว เนื่องจากมีราคาถูกและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และด้วยสรรพคุณของสมุนไพรที่มีอยู่มากมายจึงนำมาใช้เป็นยารักษาโรคในการแพทย์แผนไทย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้นำสรรพคุณของสมุนไพรมาเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอางต่างๆ
เนื่องจากเป็นเครื่องสำอางในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือสูงกว่าเครื่องสำอางที่มีจำหน่ายทั่วๆ ไปในท้องตลาด ที่ผลิตจากสารเคมี ประกอบกับกระแสนิยมธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม กระแสสวยทั้งภายนอกและภายใน กระแสความใส่ใจความงามและสุขภาพก็กำลังมาแรง จึงส่งผลให้ตลาดเวชสำอางหรือเครื่องสำอางสมุนไพรของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ
หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแบบคลัสเตอร์เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาด คลัสเตอร์เครื่องสำอางไทยที่มีการรวบรวมสมาชิกมาฝึกอบรมแก้ปัญหาเรื่องจุดอ่อนด้านนวัตกรรมและมาตรฐาน ภาพลักษณ์และการสร้างตราสินค้า
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเกือบ 2,000 ราย สมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย ให้สื่อมวลชนในงานไทยแลนด์ คอสเมติก คอนเทสต์ 2016 (Thailand Cosmetic Contest 2016) วิเคราะห์ว่า จุดเด่นของสินค้าไทย คือการนำภูมิปัญญาไทยกับการผสมผสานกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้สินค้ามีเอกลักษณ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศที่ชื่นชอบการดัดแปลงจากสมุนไพรซึ่งจัดว่าเป็นวัตถุดิบที่มีคุณค่าสูง
ส่วนจุดอ่อนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยนั้นมีอยู่ 4 ด้านหลักคือ นวัตกรรม มาตรฐานสินค้า ภาพลักษณ์และการสร้างแบรนด์ และด้านบรรจุภัณฑ์
“ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แต่เราเป็นแค่โรงงานผลิต ไม่เก่งเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการสร้างแบรนด์ที่ขาดความเป็นสากล รวมไปถึงนวัตกรรมในการผลิตที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ทำให้สูญเสียรายได้ไปมหาศาล เพราะถ้าขายในรูปแบบแบรนด์มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า”
นาโนเทคโนโลยีพัฒนาเครื่องสำอาง/เวชสำอาง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้อย่างสูงให้กับประเทศไทย และมีความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องสำอางที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันเป็นกลุ่มของเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของพืชสมุนไพร รวมถึงสารสกัดจากธรรมชาติ ส่งผลให้มีการวิจัยและพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างแพร่หลาย
ประกอบกับประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพ สมุนไพรและวัตถุดิบจากธรรมชาติหลายชนิด ที่มีศักยภาพต่อการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอาง ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในกลุ่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในประเทศหรือในระดับสากล
ตลาดเครื่องสำอางและเวชสำอางเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ผู้ผลิตต้องพยายามคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์และมีรูปแบบแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา เกิดการร่วมมือสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดใหม่
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสมุนไพรไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสูตรตำรับที่มีส่วนผสมของสารสกัดสมุนไพรในผลิตภัณฑ์เวชสำอางด้วยการห่อหุ้มสารสกัดสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ เช่น นาโนพาร์ทิเคล (Nanoparticles) นาโนลิโปโซม (Nanoliposomes) นาโนอิมัลชั่น (Nanoemulsion) เป็นต้น เพื่อช่วยในการดูดซึมของสาร สามารถใช้สารให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นาโนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจของพืชสมุนไพรไทย (Nanotechnology for Efficiency and Economic Value Enhancement of Thai Herbs) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจของพืชสมุนไพรไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชสมุนไพรไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อสร้างรายได้และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศ ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแผนพัฒนาพืชสมุนไพรไทยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชสมุนไพรไทย ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 โดยมุ่งเน้น 4 สมุนไพรหลัก ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ และไพล
“ด้วยการนำเทคโนโลยีการกักเก็บมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพืชสมุนไพรไทย ซึ่งข้อดีของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ อาทิ สามารถควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญ ลดปริมาณการใช้และเพิ่มความคงตัวของสารสำคัญ เป็นต้น โดยปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการกักเก็บสารสกัดสมุนไพรอนุภาคนาโนกับพืชสมุนไพรทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ อาหารคน อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง รวมถึงด้านสุขภาพและการแพทย์”
การประยุกต์ใช้ด้านความสวยความงาม ดร.วรรณี กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติได้นำเทคโนโลยีการกักเก็บมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอาง ศูนย์ฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอางชนิดใหม่โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย
“จากการพัฒนาสูตรตำรับที่มีส่วนผสมของสารสกัดสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีการกักเก็บในรูปแบบนาโนพาร์ทิเคิล นาโนลิโปโซม นาโนอิมัลชั่น เป็นต้น รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนาทางด้านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพและประสิทธิศักดิ์ของผลิตภัณฑ์ในการให้ความชุ่มชื้น ชะลอริ้วรอย ทำให้ผิวกระจ่างใส ลดการเกิดสิว ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับการรักษาในอนาคตด้วยเทคนิคการนำส่งผ่านผิวหนังด้วยเข็มขนาดไมโครเมตร ซึ่งสามารถนำส่งยาหรือสารสมุนไพรเพื่อการรักษาและเก็บตัวอย่างเพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและเป็นวิธีการที่สะดวกและปลอดภัย”
สรุปท้ายสุด ดร.วรรณี ชี้ว่าศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานภายใต้โครงการขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาประสิทธิภาพสมุนไพรและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
“มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าสมุนไพรไทยด้วยนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยี จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่ภาคการผลิต เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศต่อไป”
ขอบคุณ
posttoday.com